สำรวจโลกใบจ้อยที่มีองค์ประกอบอยู่นิดเดียวของ “นรา” พรชัย วิริยะประภานนท์
เรื่องและรูปโดย จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
“เราจะกินมาม่าก็ต่อเมื่อเราอยากกินเท่านั้น” — พรชัย วิริยะประภานนท์
ในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ นามปากกา “นรา” ดูจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีของผู้ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าบทวิจารณ์ที่ “นรา” เขียนขึ้นตลอดยี่สิบกว่าปีในอาชีพนักเป็นวิจารณ์ภาพยนตร์นั้นเป็นบทความที่อ่านสนุก เข้าใจง่าย มีมุมมองที่น่าสนใจ และมีความรู้สอดแทรกแบบไม่พยายามสั่งสอนผู้อ่าน
ในนักฐานะนักเขียน “นรา” หรือ พรชัย วิริยะประภานนท์ มีผลงานหนังสือออกมาจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์ญี่ปุ่น บทความทั่วไป และศิลปะ ผลงานของเขานั้นแม้มีจำนวนไม่มากแต่ก็ได้รับการยอมรับจากนักอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังเฟื้อ หนังสือซึ่งว่าด้วยชีวิตและผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เฟื้อ หริพิทักษ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2528) ศิลปินและจิตรกรผู้ได้รับการยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” อันเป็นผลงานเขียนชิ้นล่าสุดของเขานั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นงานเขียนแนวชีวประวัติที่ผู้เขียนศึกษาหาข้อมูลมาอย่างลึกซึ้ง ครบถ้วน ละเมียดละไมมากที่สุดอีกเล่มหนึ่ง
ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย “นรา” มีบทบาทสำคัญอยู่ไม่น้อย เป็นต้นว่า เขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “เฮาส์ อาร์ซีเอ” โรงภาพยนตร์ทางเลือกสำหรับคนรักภาพยนตร์นอกกระแส เช่นเดียวกับเป็นหนึ่งในบรรณาธิการรุ่นที่สามของ “ไรเตอร์ ไทยแลนด์” นิตยสารว่าด้วยวรรณกรรมไทยร่วมสมัย นอกจากนี้ “นรา” ยังเป็นนักจัดรายการวิทยุที่มีผลงานต่อเนื่อง รายการ “หนังหน้าไมค์” ทอล์คโชว์เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่เขาจัดร่วมกับนักจัดรายการวิทยุอีกสามคน โด่งดังตั้งแต่ยุค แฟต เรดิโอ ยาวต่อเนื่องมาจนถึงยุคฟังออนไลน์กับรายการ “หนังหน้าแมว” ที่เขายังจัดอยู่ในเว็บไซต์ http://www.thisiscat.com/ จนถึงปัจจุบัน
ทำงานมาก็มากมาย แต่เชื่อไหมว่าคนส่วนใหญ่ แทบไม่เคยเห็นหรือรู้จักตัวตนของ “นรา” มากไปกว่านี้เลย บางคนไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ
ไม่ใช่ความผิดของเขา ของคุณ หรือของใครเลย เพราะมันเป็นหนทางที่ “นรา” หรือ พรชัย วิริยะประภานนท์ เลือกแล้วและเลือกเอง ในวัย 55 ปี “นรา” ใช้ชีวิตแบบเบาสบายด้วยการมีภาระในชีวิตอยู่ไม่กี่อย่าง เขียนคอลัมน์นิดหน่อย จัดรายการวิทยุ ไปห้องสมุด ยืมหนังสือ อ่านหนังสือ อ่านจบแล้วนำกลับมาคืนห้องสมุด แล้วจึงยืมใหม่ และเดินออกกำลังกายทุกเย็น
เขาอยู่อย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ใช้เงินอย่างไร ในโลกที่เราต้องเป็นใครสักคน ต้องสร้างตำนานติดตัวคนละหลายอย่าง “นรา” โลดแล่นในโลกใบจ้อยที่มีองค์ประกอบน้อยนิดได้อย่างอิสระและเป็นปกติสุข

หลังจากหนังสือ ยังเฟื้อ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ทำไมถึงยังไม่มีผลงานออกมาอีกเลย นานไปหรือเปล่า
ผมเขียนหนังสือ ยังเฟื้อ ตอนปี 2553 ออกมาเป็นเล่มในปี 2554 แล้วก็ทำนิตยสาร ไรเตอร์ ทำไปได้สัก 4-5 เดือนก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 เราเลยต้องหยุด หลังจากหยุดแล้วก็ไม่ได้กลับมาทำอีก ส่วนผลงานรวมเล่มในชื่อ “นรา” หลังจาก ยังเฟื้อ ก็ไม่มีผลงานมา 8 ปีแล้ว
8 ปีที่ผ่านมา นิยามการทำงานของตัวเองอย่างไร
พักผ่อนมั้ง (หัวเราะ) จริง ๆ ก็ไม่ถึงขนาดพักผ่อนหรอก ความคิดที่จะเขียนหนังสือรวมเล่มมันมีอยู่ตลอดนั่นแหละ ทำอยู่ตลอดด้วย แต่เรายังไม่พอใจในงานเท่าที่ควร งานเก่าที่เขียนในฐานะคอลัมนิสต์ก็มีพอที่จะรวมเล่มได้ 3-4 เล่ม แต่เราไม่อยากเอามารวม เพราะมีความรู้สึกว่าถ้าต้องออกหนังสือมันจะต้องดีกว่าเล่มก่อน คือเล่ม ยังเฟื้อ เป็นเล่มที่พอใจมาก แล้วก็มันยังอยากทำให้ได้ดีกว่านั้น เป็นความทะเยอทะยานส่วนตัว เหมือนทำหนังมาเรื่องนึงแล้ว อยากทำให้มันดีกว่าเก่า แต่เรารู้ตัวว่าเรายังทำไม่ได้
แปลว่าตั้งแต่ออก ยังเฟื้อ มา วัตถุดิบอะไรต่าง ๆ ยังคงมีอยู่
มีเต็มเลย เพียงแต่ยังทำออกมาไม่ได้ หมายถึงทำให้ดีกว่า ยังเฟื้อ ยังไม่ได้ แต่ก็ถือเป็นความบันเทิงนะ รู้สึกว่ามันสนุกดี ถ้าจะเขียนเล่มนี้ให้สนุกกว่าเล่มที่แล้ว ยิ่งผ่านไปนานวันเอา ยังเฟื้อ กลับมาอ่าน ก็จะรู้สึกว่าเราพลาดตรงไหนบ้าง มันเห็นแผล ถ้าเป็นตอนนี้เอามาแก้ใหม่ มันน่าจะดีขึ้น แต่ในฐานะที่งานออริจินัลที่เราต้องเขียนขึ้นมาใหม่ เราก็ยังทำไม่ได้
ความทะเยอทะยานที่จะสร้างงานให้ดีกว่าเดิมมันทำให้คุณกระวนกระวายใจไหม
มันผ่านช่วงกระวนกระวายจนกลับมาชิลล์แล้ว เราคิดว่าสุดท้ายแล้วถ้าไม่มีอะไรออกมามันก็ไม่เป็นไร
แบบนี้ถือว่าล้มเหลวหรือเปล่า
ถ้าล้มก็คงล้มในแง่ว่า เป็นนักเขียนก็ควรจะมีผลงานออกมาต่อเนื่อง แบบนั้นมันก็คงเฟลอยู่ ตอนไปงานสัปดาห์หนังสือเห็นเพื่อนมีหนังสือเล่มใหม่ออกมาเราก็มองตาปริบ ๆ มันก็ต้องมีบ้างแหละ แต่พอถึงจุดนึงก็คิดว่าไม่มีหนังสือออกมาดีกว่ามีหนังสือออกมาแล้วอาย อายว่ามันเป็นงานของคนที่มือไม่ถึง
ความรู้สึกมันแตกต่างไปจากตอนที่เรายังหนุ่มไหม
แตกต่าง ตอนหนุ่มเราอยากมีผลงาน งานอะไรก็ได้ แต่ตอนนี้กลับรู้สึกว่าอยากมีหนังสือที่มันจะอยู่กับตัวเราไปยาวนาน แต่ ยังเฟื้อ เนี่ยยังเฉียด ๆ จุดนั้น มันยังไม่ใช่ เลยมีความรู้สึกว่าอยากทำให้มันใช่จริง ๆ แต่มันก็คงจะไม่มีทางใช่จริง ๆ ตราบที่เราอายุมากขึ้น พอเรามองกลับมาก็จะรู้สึกว่ามันแค่เฉียดตลอด ยิ่งอายุมากขึ้นมันก็เห็นทั้งศักยภาพและข้อจำกัดในความสามารถของตัวเองว่าเรามีแค่ไหน
ไม่ว่าจะนักเขียนหรืออาชีพใดก็ตาม จำเป็นไหมที่เราต้องรู้สึกแย่ เมื่อไม่มีผลงานออกมาเนิ่นนาน
เราตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าตอบในมุมตัวเองเรามองว่าอาจจะมีช่วงนึงที่แย่ แต่พอผ่านไปได้มุมมองต่อชีวิตเราก็จะเปลี่ยน จริง ๆ ก็ไม่ถึงกับแย่มากนะ แค่รู้สึกแพ้อยู่นิด ๆ
แล้วเยียวยาความรู้สึกเหล่านี้ยังไง
ไม่ได้เยียวยาอะไรมาก แต่คิดว่ามีเรื่องนึงที่ช่วยเราได้คือ การนั่งลงแล้ววาดรูปอย่างเป็นจริงเป็นจัง มันอาจจะเป็นการแก้เกี้ยวให้ตัวเองว่าเราไม่มีงานเขียนหนังสือออกมา แต่เรายังมีงานวาดรูปจำนวนหนึ่งที่พอจะชดเชยได้บ้าง ไม่ถึงกับชดเชยความรู้สึกไปเสียทั้งหมด เพราะเราก็อยากวาดเองด้วย แต่คล้ายกับลากมันมาเป็นข้ออ้างให้กับตัวเอง เอาเข้าจริงเราไม่ค่อยได้คิดถึงอะไรพวกนี้หรอก เวลาทำมันก็เป็นอัตโนมัติไปเอง
เข้าวัด วาดรูป เข้าห้องสมุด อ่านหนังสือ 30 เล่ม โดยเฉลี่ยต่อเดือน สิ่งเหล่านี้มันจุนเจือชีวิตเราได้หรือไม่
สารภาพเลยว่าเป็นช่วงที่จนสุดในรอบ 10 กว่าปีนี้เลยนะ หรืออาจเรียกได้ว่าในรอบ 20 ปีมานี้ ตัวเลขรายได้ปัจจุบันคือต่ำสุดแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประมาณได้ครึ่งนึงหรือ 1 ใน 3 ของที่เคยได้
8 ปีที่ผ่านมาคุณมีรายได้หลักมาจากอะไร
ตอนนี้ก็มีค่าจัดรายการที่ Cat Radio ซึ่งเราจัดทุกคืนวันอาทิตย์ ส่วนค่าเรื่องที่เขียนคอลัมน์อยู่ประมาณ 2-3 ที่นิตยสาร Mix ที่ สีสัน ที่ https://www.the101.world/ เงินพวกนี้คล้าย ๆ จะเป็นเงินเก็บออมยามฉุกเฉิน ที่เราอยู่ได้ เพราะไม่มีหนี้สิน แต่ถ้าเราเป็นพนักงานออฟฟิศผ่อนบ้านผ่อนรถ เงินเท่านี้เราอยู่ไม่ได้
ถ้ามองตามบรรทัดฐานของคนทั่วไป สิ่งเหล่านี้อาจจะถูกตีความว่าล้มเหลว เคยคิดแบบนั้นบ้างไหม
ไม่ได้คิดอะไรเลย 2-3 ปีที่ผ่านมารายได้มันต่ำสุดในรอบหลาย ๆ ปี และในขณะเดียวกัน ค่าครองชีพมันขึ้นสวนทางกันมาก แต่เราไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรเพราะเรามีวิธีจัดการกับมัน มีวิธีอยู่ด้วยรายได้เท่านี้แต่มีความสุขได้ แค่กินอยู่อย่างประหยัด อย่างกินข้าวเราก็มากินที่โรงอาหารจุฬาฯ เดินทางออกจากบ้านก็นั่งรถเมล์เอา ซึ่งเวลาขึ้นรถเมล์มันคือนาทีทองสำหรับการอ่านหนังสือเลยนะ รถติดก็อ่านได้มาก แล้วก็เป็นสมาชิกห้องสมุดแทนที่จะซื้อหนังสือ เพราะเราไม่มีที่เก็บหนังสือแล้ว ก็ลดค่าซื้อหนังสือไปได้เยอะ
การเป็นสมาชิกห้องสมุดมันดียังไง
การเป็นสมาชิกห้องสมุดมันส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่าน พอเป็นหนังสือที่เราซื้อเราจะคิดว่าอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ พอเป็นการยืมหนังสือจากห้องสมุด เราจะสร้างวินัยการอ่านให้กับตัวเอง อ่าน 2 เล่มนี้ แล้วต่อด้วย 2 เล่มนี้ภายในกี่วัน ด้วยความที่มันมีเดดไลน์บังคับ เราต้องขโมยเวลาทำอย่างอื่นมาเพื่ออ่านหนังสือ นอกจากนี้มันก็ลดปัญหาเรื่องพื้นที่เก็บไปได้ อีกอย่างคือการเป็นสมาชิกห้องสมุดมันเป็นการช่วยวงการหนังสือ เพราะค่าสมาชิกที่เราจ่ายจะถูกนำไปซื้อหนังสือ ยิ่งเป็นสมาชิกห้องสมุดเยอะ ๆ ก็ยิ่งขับเคลื่อนให้ห้องสมุดต้องไปหาหนังสือเข้ามา เพียงแต่เรามีปัญญาช่วยได้น้อย ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนในฐานะผู้ซื้อ
แล้วถ้าเป็นหนังสือที่เราอยากได้ล่ะ
หนังสือที่เราอยากครอบครองมันไม่มีแล้ว แม้แต่หนังสืออาร์ตสวย ๆ ที่ไปเจอตอนมันลดราคา หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมือสอง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเห็นต้องซื้อแน่นอน เดี๋ยวนี้ไม่เอาแล้ว คิดอย่างเดียวเลยหนังสือที่บ้านต้องโละออก แต่ไม่ขายเด็ดขาด เป็นตายก็จะไม่ขาย รู้สึกเหมือนขายผู้มีพระคุณ เราแจกจ่ายญาติมิตรหรือบริจาคห้องสมุดแทน เพราะรู้สึกว่าให้เพื่อนหรือห้องสมุดมันจะส่งผลในทางบวก แต่การขายมันอาจจะไปอยู่ในมือพ่อค้าที่โก่งราคา เห็นแล้วมันเจ็บปวด

เลือกเส้นทางชีวิตแบบนี้ มีความทุกข์บ้างหรือเปล่า
ถ้าทุกข์เรื่องความเป็นไปต่าง ๆ ในชีวิตก็มีตามอัตภาพ แต่ถ้าในแง่การครองชีพจับจ่ายใช้สอย ไม่ทุกข์เลย บันเทิงเสียด้วยซ้ำ เราระวังเรื่องการใช้เงินมากในช่วง 5 วันแรกของทุกเดือน ของเราประมาณวันที่ 30-31 เนี่ยเงินเข้าบัญชีแล้ว พวกค่าเรื่องที่เขียนอะไรนี่จะเข้าแล้ว แต่โดยปกติทั่วไปเวลาเงินเดือนออก คนทั่วไปจะกินดีอยู่ดี แต่ของเราตรงกันข้าม ช่วงเงินเข้าแรกๆ จะประหยัดมาก จะคุมค่าใช้จ่ายว่าวันนึงประมาณเท่าไหร่ พอถึงอาทิตย์สุดท้าย หรือ 5 วันสุดท้ายก่อนเงินเดือนออก ในขณะที่คนอื่นเขากินมาม่ากันแล้ว อะไรที่เราหมายตาอยากกินหรู ๆ สักมื้อ เราก็จะได้กิน และกินด้วยความสบายใจ ไม่ต้องกินมาม่า เราจะกินมาม่าก็ต่อเมื่อเราอยากกินเท่านั้น แล้วความรู้สึกมันต่างกันมากนะ ทั้งที่สลับวันแค่ไม่กี่วันเอง เราดีลกับชีวิตแบบนี้แหละ รู้สึกว่ามันต้องทุกข์แน่นอน ถ้ามีตังค์แค่นี้แล้วเดินเอ็มควอเทียร์ แต่เราไม่เดินไง เมื่อก่อนไปเดินห้างแล้วหดหู่หม่นหมองมาก พอดูชาวบ้านเขาแต่งเนื้อแต่งตัวกัน ดูเขานั่งกินในร้านที่เราไม่มีปัญญากิน แต่หลัง ๆ เรามาเดินดูต้นไม้ในจุฬาฯ โคตรมีความสุขเลย
กิจวัตรประจำวันช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ก่อนหน้านี้มันเป็นอีกแบบ แต่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมามันเป็นแบบแผนชัดเจนขึ้น เราตื่นนอนประมาณตี 5 ถึง 7 โมงเช้า ตื่นมาแล้วก็นั่งเขียนหนังสือ เขียนต้นฉบับ แต่ถ้าไม่มีต้นฉบับก็คือซ้อมมือ เขียนถึงประมาณ 10 โมงเช้าแล้วก็ออกจากบ้านมากินข้าวที่โรงอาหารจุฬาฯ สับเปลี่ยนโรงอาหารตามคณะต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นคณะทั่วไปปกติก็จานละประมาณ 30 บาท แต่ถ้าเป็นโรงอาหารหอพักนิสิตมันจะถูกลง แล้วพอว่างก็เข้าห้องสมุดนั่งอ่านหนังสือถึง 4 โมงเย็น พอ 4 โมงแล้วก็เริ่มหาอะไรมารองท้อง 4 โมงครึ่งก็เริ่มเดิน เดินประมาณ 20 รอบ รอบละ 700 เมตร แล้วหลังจากนั้นก็เป็นช่วงปรนเปรอตัวเอง เพราะแถวนี้ (บรรทัดทอง สามย่าน จุฬาฯ) อาหารมันอร่อยในราคาปกติมาตรฐาน เพราะกลางวันเรามีมื้อประหยัดไปแล้ว ถ้าประหยัดทุกมื้อมันก็ขาดความสุข
ยังเอ็นจอยกับการดูจิตรกรรมฝาผนังตามวัดอยู่ไหม
ยังเอ็นจอยอยู่ครับ แต่เรามีปัญหาเรื่องการเดินทาง หลังจากที่มีคนสั่งย้ายท่ารถตู้จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มาที่ขนส่งสายใต้และขนส่งหมอชิต เราต้องเผื่อเวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง เพื่อที่จะไปอยุธยาหรือเพชรบุรี หลัง ๆ ก็เลยไม่ได้ไป ดูวัดในกรุงเทพใกล้ ๆ ก็ได้ แต่ว่าเกิดความเหนื่อยหน่ายอยู่ เช่น ที่ที่อยากไปทัวร์ก็มาลง มันไม่สงบ สำหรับเราไปดูพวกนี้ มันควรนิ่งเงียบ อย่างไปดูวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว คนมันพลุกพล่านจนแบบว่าไม่สงบ ก็เลยตัดใจไม่ดู นานไปก็เลยเป็นเหตุทำให้ไปวัดน้อยลง
แล้วการวาดรูปล่ะ มันเริ่มมาได้ยังไง
ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เราวาดมาตลอด วาดรูปมันเริ่มมาตั้งแต่ที่เราไปดูจิตรกรรมฝาผนัง ตอนนั้นพอไปดูแล้วเราก็สเก็ตช์หยาบ ๆ ว่ามันประมาณนี้ รูปนี้อยู่ในตำแหน่งผนังตรงนี้ เอาไว้เช็คเทียบกับรูปที่ถ่ายมา การสเก็ตช์มันเหมือนการจดโน้ต แล้วก็มันช่วยให้เรามีเวลาสังเกตดีเทล ซึ่งตอนที่เราไปถ่ายรูปเนี่ยเราไม่เห็น เราตกหล่นในรายละเอียดไปเยอะ แต่การสเก็ตช์มันเห็น เพราะเราต้องเพ่ง ก็เลยรู้สึกว่าการวาดรูปมันช่วยได้ แล้วมันก็เชื่อมโยงกัน คือพอเราดูมาก ๆ มันเริ่มรู้สึกว่าอยากวาดบ้าง มันก็เลยวาดต่อเนื่องมา พอเริ่มซา ๆ จากการไปดู ก็เลยเริ่มเอียงมาทางวาดรูป
มีทักษะด้านการวาดรูปอยู่แล้วหรือเปล่า
เราเรียนสาขาโฆษณา ก็มีวิชาดรอว์อิ้งเล็กน้อย แต่พอเรียนจบก็ไม่ได้วาดเลย จังหวะนั้นประจวบเหมาะ เราไปเจออาจารย์เทพศิริ (สุขโสภา) ด้วย แล้วแกก็ได้ข่าวมาว่าเรากำลังวาดรูป แกก็เลยมาติวให้ แกวาดรูปให้ดูแล้วก็อธิบายอะไรที่มันเป็นหลักกว้าง ๆ 2-3 อย่าง ตอนนั้นมีเวลากันประมาณครึ่งชั่วโมงเอง แต่ว่ามันส่งผลกับเรามาก พอหลังจากนั้นมันก็เป็นช่วงฟื้นฟูการวาดรูปของตัวเอง
แทบจะสร้างทักษะวาดรูปขึ้นมาใหม่เลย ว่าอย่างนั้นได้ไหม
ไม่ถึงขั้นนั้นหรอกครับ เหมือนเคยขี่จักรยานเป็นแล้ว กลับมาขี่ใหม่อีกครั้งนึงก็ขี่ได้ คือวาดรูปเนี่ยกลับมาทำสักอาทิตย์-สองอาทิตย์ก็เริ่มเข้าที่ แม้มีช่วงที่ไม่ได้วาดเลย แต่ไอ้ช่วงเวลาที่ผ่านตาไปดูงานจิตรกรรมฝาผนังมันก็ช่วยได้เยอะ
คิดจะทำอะไรกับรูปวาดของตัวเองบ้าง
แรก ๆ คือวาดเพราะอยากวาด ต่อมาก็คิดได้เพิ่มเติมว่าเราจน จะไปงานแต่งงาน งานวันเกิดเพื่อน เราก็ไม่มีตังค์จะใส่ซอง เลยเอาภาพวาดไปเป็นของขวัญ หรือเวลาไปงานสัปดาห์หนังสือ คนนู้นคนนี้ให้หนังสือเรา เราก็ให้รูปที่เราวาดกับเขา เพราะรู้สึกว่าสนับสนุนผลงานเขาไม่ได้ ก็ใช้สิ่งนี้แทน พอทำไปเราก็รู้สึกว่าเรายังป๋าอยู่นี่หว่า เราก็ยังมีอะไรให้เขาว่ะ เวลาโพสต์รูปลงเฟซบุ๊กก็จะมีคนถามว่าไม่รวมเล่มหนังสือภาพวาด ไม่จัดแสดงงานหรือ แต่ก็รู้สึกว่าไม่ดิ้นรนดีกว่า มันคงเหนื่อยและต้องเสียเวลากับเรื่องพวกนี้เยอะแน่ ๆ คือถ้ามีคนมาจัดการมาดูแลอะไรให้ก็โอเค แต่ให้เราทำเองไม่เอา มันเสียเวลาเขียนหนังสือ
คิดอะไรขณะวาดรูป
จริง ๆ แล้วการวาดรูปมันเป็นวิธีฝึกสมาธิที่ง่ายและตรงที่สุดวิธีหนึ่ง ในระหว่างวาด โฟกัสจะจดจ่อกับสิ่งที่เราวาด มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า…พอทำไปแล้วมันพลาด ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มันเกิดกลไกการคิดแก้ปัญหาในรูปที่วาด มันก็คล้าย ๆ กับการเขียนหนังสืออยู่เหมือนกัน เพียงแต่คนละเครื่องมือ ก็วาดมาเรื่อยจนประมาณ 4-5 เดือนที่ผ่านมาถึงหยุด คือตอนนี้ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ถ้าเปรียบหนังสือเป็นอาหาร เรียกได้ว่าตอนนี้กินอะไรก็อร่อยไปหมด เจอนู่นนี่ก็รู้สึกอยากอ่านไปหมด อ่านหนังสืออย่างหิวกระหาย จนแย่งเวลาวาดรูปไปเกือบหมด
ที่บอกว่าอ่านหนังสืออย่างหิวกระหาย ก่อนหน้านี้เคยหิวกระหายเท่านี้ไหม
เราอ่านมาตลอด ที่ผ่านมาก็ไม่ใช่อ่านน้อย เคยจดไว้ปีนึงเฉลี่ย 150 เล่ม ซึ่งนับได้ต่อเนื่องเป็น 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งเริ่มอ่านเดือนละ 30 เล่มปีนี้ พูดได้ว่าหิวมาตลอด แต่ตอนนี้หิวและตะกละกว่าเดิมเยอะ
ทำไมถึงสนุกกับการอ่านหนังสือได้มากขนาดนั้น ทั้งที่อ่านหนังสือมามากพอสมควรแล้ว
น่าจะเป็นผลจากหลายปีก่อนหน้านี้ เราได้อ่านอะไรต่อมิอะไรในโซเชียลมีเดีย แล้วรู้สึกว่ามันมีคาแรกเตอร์หรือการใช้ภาษาอีกแบบนึง คือมันก็เป็นงานของยุคนี้แหละ เพียงแต่ไม่ใช่งานแบบที่เราโตมา ไม่ได้เป็นงานเขียนที่ยาว ๆ ต่อเนื่อง พอเราอยู่กับโซเชียลมีเดียมาก ๆ เข้า ตอนกลับมาหาหนังสือเล่มเราเลยโหยหามันมาก
งานเขียนในโซเชียลมีเดีย มันขาดสุนทรียะไหม
ไม่ถึงกับขาดสุนทรียะ แต่มันดูเป็นอะไรที่ชิ้นย่อย ๆ กระจาย ๆ ไม่เป็นมวลเป็นก้อน สมมุติเล่าอะไรก็เล่าสั้นๆ ไม่ได้เป็นการลงลึก พอจะมีที่ลึก ๆ ยาว ๆ เราก็ตาลายขี้เกียจอ่าน ซึ่งไม่ได้รู้สึกว่ามันแย่ ไร้คุณภาพ หรือขาดเสน่ห์นะ มันมีในแบบของมัน แต่มันขาดสิ่งที่เราเคยชอบ มันหายไป ซึ่งพอกลับมาอ่านหนังสือเล่มมันเจอตรงนี้ไง
เคยคิดจะทำคอนเทนต์ออนไลน์หรือเปล่า
ไม่คิดครับ ไม่ได้เกี่ยงงอนอะไร แต่มีความรู้สึกว่าคอนเทนต์ออนไลน์มันมีความใกล้เคียงกับสื่อหนังสือพิมพ์ ทันสถานการณ์ ฉับไว แต่มันจะเกิดขึ้นและจบลงโดยมีอายุอยู่ไม่ยาวมาก ตรงนี้มันต่าง เพราะสิ่งที่เราอยากทำคือ อยากทำอะไรที่มันเป็นถาวรวัตถุ อะไรที่อยู่นาน ไม่ต้องสดมาก ไม่ต้องอินเทรนด์ ก็เลยไม่คิดจะทำ อาจจะเป็นวัยของเราด้วย ถ้าตอนนี้อายุ 20 กว่าแล้วโลกมันเป็นแบบนี้เราก็คงสนุกกับสื่อออนไลน์ กับอีกอย่างนึงคือถ้าจะโดดลงไปในโซเชียลมีเดียเนี่ย มันมีแนวโน้มสูงที่จะต้องไปคิด ไปโฟกัส หรือไปสนใจในเรื่องที่คนอื่นเขาสนใจพร้อม ๆ กัน มีโอกาสสูงที่จะทำอะไรเหมือน ๆ กัน พอเป็นแบบนั้นมันก็ดูจมไป เรารู้สึกอยากทำอะไรที่ย้อนศรกับคนอื่น ไม่อิงสถานการณ์หรืออยู่ในกระแสนิยม อาจจะเป็นจุดที่โดนมองข้ามแล้วเราดึงกลับมา คล้าย ๆ ว่าคิดอีกเมนูเพิ่มขึ้นมา แต่เราไม่รังเกียจการมีอยู่ของกะเพราไก่ เราก็ยังขอบคุณเขาอยู่
ปกติใช้โซเชียลมีเดียไหม
ใช้เพื่อดูว่าวันนี้กะเพราไก่มันเป็นยังไง มันมีความจำเป็นอยู่ระดับนึง เราเล่นเฟซบุ๊กแบบคนขี้เกียจ ตื่นมาดูอะไร 5 นาที ดูระหว่างที่ต้มกาแฟรอน้ำเดือดเท่านั้นเอง สแกนคร่าว ๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นแค่นั้นพอ ที่ต้องพอเพราะไม่งั้นเดี๋ยวยาว ติดแล้วก็ไม่เป็นอันทำอะไร กับอีกทีนึงคือกลับถึงบ้านก็ดูสัก 15 นาทีว่ามันเกิดอะไรขึ้น โพสต์อะไรออกไปมีใครมาคุยอะไรบ้าง ก็ตอบเขากลับไป แล้วก็กลับมาอ่านหนังสือ
หลังจากห่างหายไปนาน คิดว่ามันใกล้ถึงวันที่น่าจะมีชิ้นงานที่ท้าทายกว่าหรือดีกว่า ยังเฟื้อ ออกมาหรือยัง
ยังครับ คิดว่ายังไม่ใกล้ อย่างแรกคือยิ่งอายุมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น มันเห็นสองอย่าง การอ่านมันทำให้เราเห็นงานเขียนชั้นเลิศว่ามันเป็นยังไง และงานที่อ่อนด้อยเป็นยังไง พอเห็นตรงนี้มากเข้าเลยเกิดเอฟเฟกต์กับตัวเอง ทำให้ตอนเราเขียนออกมามันเห็นว่างานยังไม่ดีพอ
ถ้าอย่างนั้นมีเรื่องอะไรที่เราสนใจเป็นพิเศษ
อยุธยา จิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องที่ยังอยากทำอยู่ แล้วก็เคยมีเรื่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งปีที่แล้วสนใจ ตุนข้อมูลไว้เยอะ แต่ว่าตอนนี้หมดความสนใจไปแล้ว คือเรื่องญี่ปุ่นมันติดอย่างเดียวที่ยังทำไม่ได้ก็คือ มันควรจะได้ไปเยือนสถานที่จริง เราจะเขียนอะไรต่อมิอะไรในญี่ปุ่น แต่ถ้าเราไม่เคยไปเจอเลยก็คงจะหลอก ๆ ปลอม ๆ ชอบกล พอถึงวันนี้ความอยากไปมันไม่มีแล้ว ทั้งที่ปีที่แล้วอยากไปมาก ถึงขั้นคิดจะไปไม่รู้กี่ครั้ง คงเป็นเพราะมาเดินที่นี่ (อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แหละ เลยทำให้ไม่อยากไปญี่ปุ่น แล้วพอไม่อยากไป ความอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็หายไปด้วย
คาดคั้นหรือกดดันให้มีงานเขียนเป็นเรื่องเป็นราวไหม
คาดคั้นอยู่ว่าทุกวันนี้ตื่นมาแล้วต้องเขียนอะไรสักอย่างให้ได้ เขียนให้ดี แล้วก็อ่านให้ได้เท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่ได้ไปคาดคั้นว่าปลายปีนี้จะต้องส่งต้นฉบับ เราอยากเรื่อย ๆ จนกว่าวันนึงจะอ่านแล้วชอบ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันเจ๋ง มันเห็นเลยว่าเป็นช่วงฟอร์มตกของการเป็นนักเขียน แล้วมันยังคืนฟอร์มไม่ได้ ก็ต้องแก้ปัญหากันไป
ขอถามเรื่องการ “เดิน” บ้าง เดินออกกำลังกายมานานหรือยัง
1 ปี 3 เดือน เดินวันละ 20 รอบ รอบละ 700 เมตร 14 กิโลเมตร น้ำหนักลดไป 15 กิโลฯ แล้วก็ทำให้ตารางการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ จากนอนตีสามถึงตีห้า กลายมาเป็นห้าทุ่มถึงเที่ยงคืน
ระหว่างที่เดินคิดอะไรบ้าง
คิดสารพัดสารพันเรื่องเลย ทั้งเรื่องงาน เรื่องชีวิต เรื่องติงต๊องเหลวไหล นึกสงสัยเหมือนกันว่าตอนเราเดินวันละ 2 ชั่วโมงกว่าเนี่ย เราคิดอะไร แล้วก็พบว่ามีหัวข้อนึงที่เราคิดทุกวัน แล้วใช้เวลากับมันเยอะเลย คือคิดว่าเดินเสร็จแล้วเราอยากกินอะไร ซึ่งมันก็มีอยู่ 4-5 อย่างนั่นแหละ แต่ว่าคิดมากเกิน การคิดเรื่องกินมันเป็นวิธีเอนเตอร์เทนตัวเองอยู่เหมือนกัน หนึ่ง คือเปลี่ยนบรรยากาศไม่ให้น่าเบื่อ พาเราออกไปจากความคิดเดิม ๆ สอง คือ มันก็เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจส่วนตัวของเราด้วยว่า วันนี้อยากกินไอ้นี่ แต่งบเรามีเท่านี้ว่ะ เรากินอันนี้ดีไหม พอคิดเรื่องกินบ่อย ๆ ก็ชอบใจตัวเองว่ามีนิสัยเหมือนหมีพูห์ อีกเรื่องที่คิดบ่อยครั้งไม่แพ้กัน คือเวลามีต้นฉบับที่ต้องเขียนส่งพวกคอลัมน์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะมาคิดว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไรระหว่างเดินออกกำลังกาย จะโปรยยังไง ประเด็นตรงนั้นมันเป็นแบบนี้หรือเปล่า เขียนฉบับร่างในหัว แล้วค่อยไปลงมือเขียนที่บ้าน
ระหว่างเดินพกอะไรติดตัวไปบ้าง
เราพยายามจัดสรรของเท่าที่จำเป็น หนังสือ สมุด ปากกา น้ำดื่ม ร่ม และตุ๊กตาหมี แต่ไม่พกโทรศัพท์มือถือหรือไอแพด เคยไปอ่านเจอตามเพจต่าง ๆ เขาบอกว่าวิธีการเดินออกกำลังกายที่ดีที่สุดควรแบกอะไรติดตัวสักเล็กน้อยเพื่อถ่วงน้ำหนัก
ขอถามในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์บ้าง ช่วงนี้ยังดูหนังบ่อยอยู่หรือเปล่า
พูดได้เลยว่าในกิจกรรม ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หนังเป็นกิจกรรมที่เบื่อที่สุด ทำให้ดูน้อยลง ดูด้วยความเกียจคร้านเท่าที่จำเป็นในการทำงาน โรงหนังสมัยนี้ก็มีส่วนที่ทำให้เบื่อ เพราะมันไม่เหมือนยุคสแตนด์ อะโลน กว่าจะได้ดูพิธีกรรมมันเยอะ อาจจะง่ายขึ้นสำหรับหลายคน แต่ความง่ายนั้นไม่สอดคล้องกับเรา อีกอย่างที่ทำให้เบื่อ คือ เราขาดสมาธิเอง ตอนดูหนังเราจะมีความคิดในหัวว่าถ้าเราจะเขียนยังไง ยุคที่เขียนใหม่ ๆ มันเป็นแบบนี้ แต่พอทำงานระยะนึงมันหายไป แต่ตอนนี้มันกลับมาเป็นอีก ชอบคิดว่าตอนจัดรายการวิทยุจะพูดถึงหนังเรื่องนี้ยังไง ทั้งที่มันควรจะคิดหลังจากดูจบ แต่ใจมันเผลอไปคิดก่อน แล้วก็หลุดอะไรไปเยอะเลย กลายเป็นว่าตอนดูหนังกลับสมาธิไม่ดี ทำให้ไม่สนุก แต่ตอนอ่านหนังสือกับเดินออกกำลังกายกลับมีสมาธิดีมาก มันอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกว่าวันนึงมันผ่านไปโคตรเร็วเลย เพิ่งอ่านหนังสือได้ร้อยกว่าหน้าเอง ตั้งแต่มาเดิน มาอ่านหนังสือในห้องสมุด เป็นปีทองอันแสนสุขเลย แฮปปี้มากกับชีวิตมากที่สุดในรอบหลาย ๆ ปี ปีที่แล้วเนี่ยพิสูจน์มากเลยว่าจนแต่ดี

เคยรู้สึกเหงาไหม
หลายปีมานี้ ไม่ค่อยเหงานะ แต่ตอนมาเดินเริ่มมีความรู้สึกนั้น เพียงแต่ไม่ได้เหงาแบบเป็นทุกข์ เราเหงาแบบสุขซึ้งปนเศร้า มุมนึงเวลาเห็นพ่อแม่ลูกเดินจูงมือกันก็ เออ ดีว่ะ แต่เรายังทำไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ชีวิตที่เราเลือกอยู่ดี มันก็มีโหยหาอย่างที่เราเห็น กับมีทั้งความพอใจว่าอย่างที่เราเป็นอยู่ก็ดีเหมือนกัน มันปนกัน ไม่ไปทางใดทางหนึ่ง และจะว่าไปเราชอบความเหงาแบบนี้อยู่ลึก ๆ เหมือนกัน
เคยกังวลไหมว่าพอแก่ตัวแล้วเราจะอยู่ยังไง
กลัวนะ ไม่ได้กลัวว่าจะไม่มีใครมาเลี้ยง แต่กลัวว่าอายุมากขึ้นแล้วสุขภาพไม่ดี จะดูแลตัวเองไม่ได้ เราถึงมาเดินออกกำลัง ด้วยเวลาที่เรามีอยู่ตอนนี้ ไม่รู้ว่ามันจะไปถึงแค่ไหน ตอนนี้ก็ค่อย ๆ หาวิธีแก้ไขปัญหา หาวิธีเตรียมตัวรับมือกับมันไปทีละเรื่อง
พอใจกับชีวิตแบบนี้ไหม
ถ้าปีที่แล้วเนี่ยพอใจมาก ๆ คือมันมีความสงบนิ่งกับชีวิตรอบ ๆ ตัว มันมีเวลาคิดทบทวนอะไรหลายอย่างที่ผ่านมาในชีวิต หลายครั้งมันเห็นความผิดพลาดหรือปัญหาในการพูดจา หรือการกระทำของตัวเองในเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน อีกอย่างคือมันทำให้เราเข้าอกเข้าใจอะไรมากขึ้น เยือกเย็นขึ้น ก่อนหน้านี้มันก็เคยมีมุมเกลียดโลกหรือหมั่นไส้ผู้คนนะ ตอนนี้ยังมีบ้างแต่เบาลงเยอะเลย เพราะการเดินมันช่วยได้มาก ช่วงปี 2557 ถึงปี 2560 เนี่ย เราเกือบจะทะเลาะกับใครต่อใครทุกวันเลยนะ เดินซื้อของเซเว่นฯ มีคนมาแซงคิวก็พร้อมจะบู๊กับเขา หงุดหงิดขวางหูขวางตาผู้คนไปทั่ว แล้ววันนึงมันมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พร้อมจะกลายเป็นเหตุทะเลาะวิวาทพวกนี้เยอะมาก ตลอดปีกว่า ๆ มานี้เรื่องแบบนั้นมันก็ยังมีอยู่ เพียงแต่มันเริ่มมีสติคิดยับยั้งชั่งใจได้ทัน เริ่มชำนาญในการระงับอารมณ์ความรู้สึกได้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เราได้มาจากการเดินเพราะระหว่างเดินเราต้องมีสมาธิและสติมาก ไม่อย่างนั้นมันก็เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ อันนี้โยงมาถึงการใช้ชีวิตด้วย
จากตอนนี้มองย้อนกลับไปสัก 30 ปี มันถือเป็นช่วงชีวิตที่ดีไหม
เป็นช่วงที่ดีมาก ๆ ก่อนหน้าที่จะมาเดินเมื่อหลายปีที่แล้ว เราเคยเจอวิภว์ (บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร Happening!) แล้วคุยกันว่า คนเราพออายุมากแล้วมันดีนะ เราคิดว่ามันดีทุกอย่าง เพราะเราก็ดูเข้าใจอะไรมากขึ้น จะเสียอย่างเดียวคือ สุขภาพ แต่ตอนนี้พบแล้วว่าสุขภาพมันก็สามารถดีขึ้นได้เหมือนกัน คือสุขภาพมันก็ต้องถดถอยเสื่อมลงตามวัย แต่การใช้ชีวิตแบบนี้มันช่วยผ่อนหนักเป็นเบาและประคับประคองได้พอสมควรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพจิต ช่วงก่อนจะมาเดินออกกำลังกายนี่หนักหนามาก ขึ้นบันไดแล้วหน้ามืดเป็นประจำ ตอนนี้เดินปร๋อสบาย ๆ ไม่เหนื่อย ไม่หอบ จะมีที่เสียดายก็คือ ไม่สามารถเล่นกีฬาอื่น ๆ อย่างเช่น เตะฟุตบอลแล้ว เพราะต้องระวังกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น วัยมันไม่เอื้อแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้ฟิตกว่าตอนเตะฟุตบอลเป็นประจำซะยังงั้น
Posted in: Uncategorized
ชอบมากเลยค่ะ ชีวิตธรรมดาๆที่ยอมรับอะไรๆได้ อยู่กับสิ่งที่ feed เราได้ เพียงพอ ชอบคุณนราและผลงานของแกมาตลอด
LikeLike
ชอบมากครับ ขอบคุณพี่ๆ ทั้งสองท่านครับ
LikeLike
: )
LikeLike